“สิงคโปร์” สร้างต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ ด้วยพลังของนวัตกรรมและเทคโนโลยี

เมื่อพูดถึง “สิงคโปร์” นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับหัวแถวของโลกชื่อเสียงของระบบการศึกษา ก็ถือได้ว่าไม่เป็นสองรองใคร
และถูกยกให้เป็นต้นแบบที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ที่ควรนำมาเป็นแบบอย่าง

ในงานประชุมสัมมนาเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับภูมิภาคอาเซียนบวกสาม (ASEAN+3 Regional Learning Cities Conference 2024) รองศาสตราจารย์ Sim Soo Kheng ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม สถาบันการเรียนรู้ผู้ใหญ่ (Innovation Centre, Institute for Adult Learning: IAL) ประเทศสิงคโปร์ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการเรียนรู้ โดยเฉพาะในการทำงานของ IAL ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต 

🚩 นวัตกรรมกับการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่

การหลอมรวมเทคโนโลยีเข้ากับการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย รองศาสตราจารย์ Sim เล่าว่า ในช่วงแรก ทางศูนย์ฯ พยายามให้ครูผู้สอน และองค์กรฝึกอบรมได้ทดลองใช้เทคโนโลยีในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ แต่กลับพบว่าผลลัพธ์ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายมากนัก เพราะบุคลากรบางกลุ่มยังมองว่าสิ่งเดิมที่มีอยู่ก็เพียงพอ และให้ผลดีอยู่แล้ว จนนำไปสู่การจัดกิจกรรมเพิ่มเติมเพื่อแนะนำเทคโนโลยี วิธีการนำไปใช้ และความพยายามในการผสานเทคโนโลยีให้เข้ากับการออกแบบการเรียนรู้

“การนำนวัตกรรมมาใช้ในด้านการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การทำงานของเรายังทันสมัยและตรงกับความต้องการในปัจจุบัน นวัตกรรมที่ศูนย์ฯ นำมาใช้จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาวิธีการสอนและการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ ไม่เพียงแค่การนำเนื้อหามาแสดงในแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้น แต่เป็นการพิจารณาว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร”

อีกปัญหาที่พบ คือ บริษัทเทคโนโลยีที่มีความเข้าใจในเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้ง แต่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ หรือความต้องการเชิงการศึกษา เช่น บริษัทสามารถพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยจัดแสดงเนื้อหาในรูปแบบต่าง ๆ ได้ แต่การเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ได้มีแค่การรับข้อมูล แต่เป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่า อย่างการนำความรู้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหากับสถานการณ์ในที่ทำงาน 

ตัวอย่างโปรแกรมนวัตกรรมของศูนย์ฯ ที่พาบริษัทเทคโนโลยีมาร่วมมือกับผู้ให้การเรียนรู้ และการฝึกอบรมให้กับองค์กรต่าง ๆ เช่น โครงการของ Playware Studio ที่ร่วมมือกับ Singapore Building Construction Academy เพื่อทดลองใช้เกมในการฝึกอบรมคนงานก่อสร้างเกี่ยวกับความปลอดภัย และการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน ซึ่งเกมส์ชุดนี้ได้ช่วยให้คนงานมีความรู้ความเข้าใจ ตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤต และแบ่งปันทักษะและสิ่งที่ได้เรียนรู้ กับเพื่อนร่วมงาน และครอบครัว 

🚩หัวใจสำคัญของความร่วมมือ และเครือข่าย

ศูนย์นวัตกรรมฯ มีความร่วมมือกับสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning) ในการร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกันผ่านแพลตฟอร์มของแต่ละฝ่าย รองศาสตราจารย์ Sim มองว่าหากเรามีความเชื่อในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เราก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่เปิดกว้างเพื่อที่จะเรียนรู้จากกันและกัน เพราะนวัตกรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยลำพัง 

ดังนั้นสิงคโปร์จึงไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก ของเพียงให้ความสำคัญ กับการมีเป้าหมายและความสนใจร่วมกันในการส่งเสริมการเรียนรู้ ก็สามารถร่วมกันขับเคลื่อนและเรียนรู้แลกเปลี่ยนได้ 

“แม้รัฐบาลจะมีบทบาทในด้านการกำหนดนโยบายและการสนับสนุนทางการเงินในสิ่งที่เราทำ แต่การทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาการศึกษาของผู้ใหญ่ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอน และการอบรม 

การมีส่วนร่วมกับผู้สอน การเป็นเครือข่ายพันธมิตรกับองค์กรฝึกอบรมต่างๆ  เช่น ในภาคบริการสังคม เรามีพันธมิตรที่ดีอย่าง Social Services Institute ก็ช่วยให้เราทำงานได้เป็นอย่างดีกับกลุ่มกับอาสาสมัครและนักสังคมสงเคราะห์”

นอกจากหน่วยงานภายในประเทศแล้ว ทางศูนย์ฯ ได้ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศในการทำวิจัยด้านการศึกษาผู้ใหญ่และการพัฒนากำลังคน เพื่อออกแบบโปรแกรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของสิงคโปร์ เช่น โครงการล่าสุด Productive Failure หรือการเรียนรู้จากความล้มเหลว ก็ได้เชิญนักวิชาการจากสวิสเซอร์แลนด์มาร่วมในโครงการ ช่วยให้เราได้เปิดมุมมอง และทดลองนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างเต็มที่”


“ประเทศไทยมีความพยายามที่จะรักษาวัฒนธรรมไว้ในยุคสมัยใหม่ ซึ่งเป็นความตั้งใจที่น่าชื่นชม และผมมองว่าเราควรใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมให้เข้ากับยุคสมัย แต่ไม่ปล่อยให้เทคโนโลยีเป็นตัวเข้ามากำหนดทิศทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนกังวลเกี่ยวกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ดังนั้น เราต้องเป็นผู้ควบคุมและเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เพื่อพัฒนาคน และเมืองของเรา”

.

อ้างอิง
Assoc. Prof. Sim Soo Kheng, 29 ตุลาคม 2024
https://www.ial.edu.sg

Share :