“เลกัซปี” เมืองยืดหยุ่น (Resilience City) – ปรับตัวได้ผ่านการเรียนรู้

🚩 Legazpi, Philippines

เช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศฟิลิปปินส์ “เลกัซปี” เป็นเมืองที่ต้องรับมือกับความท้าทายในการประสบภัยธรรมชาติอยู่เสมอ ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้ภูเขาไฟมายอน กับความเสี่ยงที่ตามมาอีกมากมาย ทั้งภูเขาไฟระเบิด ไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว และสึนามิ 

ท่ามกลางความท้าทายทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เลกัซปีได้สร้างความยืดหยุ่นทั้งระดับเมือง และประชาชนผ่านการส่งเสริม และพัฒนาการเข้าถึงการศึกษา จนได้รับรองเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (UNESCO Global Network of Learning cities) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นสมาชิกเมืองเครือข่ายลำดับที่สองของประเทศฟิลิปปินส์ ต่อจากเมืองบาลังกา (Balanga)


Hon. Alexander U. Jao สมาชิกสภาเทศบาลเมืองเลกัซปี ผู้เข้าร่วมงานประชุมสัมมนาเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับภูมิภาคอาเซียนบวกสาม (ASEAN+3 Regional Learning Cities Conference 2024) เมื่อวันที่ 29 – 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เล่าถึงความท้าทายนี้ว่า 

“แม้ว่าเมืองเลกัซปีจะมีความท้าทายมากมาย เราเสี่ยงต่อการระเบิดของภูเขาไฟ เสี่ยงต่อพายุไต้ฝุ่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เองเพิ่งเกิดพายุไต้ฝุ่น ส่งผลให้ขณะนี้พื้นที่เมืองของเรายังคงมีน้ำท่วมหลายจุด” 

สำหรับการรับมือกับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ เลกัซปีได้ตั้งเป้าหมาย “Zero Casualty“ หรือการไม่มีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติ ผ่านโปรแกรมจัดการภัยพิบัติล่วงหน้า ซึ่งจะเริ่มเตือนภัย และมีระบบต่างๆ เข้ามาสนับสนุนในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนพายุไต้ฝุ่นจะเข้าพื้นที่  


📖การศึกษากับเมืองแห่งการเรียนรู้ 

“ประเด็นการศึกษา และการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ คือ หนึ่งในโจทย์สำคัญของเลกัซปี ด้วยที่ตั้งของเมืองที่เป็นพื้นที่ชายฝั่ง และภูเขา ทำให้การเดินทางในบางพื้นที่เป็นเรื่องยากลำบาก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้การเข้าถึงการศึกษายังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการพัฒนาโดยด่วน 

ด้วยเหตุผลนี้ เมืองเลกัซปีจึงจัดตั้ง “ระบบการเรียนรู้ทางเลือก (Alternative Learning System)” โดยในทุกบารังไก (หน่วยการปกครองท้องถิ่นที่เล็กที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ เทียบเท่าตำบลหรือหมู่บ้าน)  จะมีศูนย์การเรียนรู้ Barangay Learning Hubs เพื่อส่งเสริมการศึกษาระดับท้องถิ่น ช่วยให้เยาวชนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้

นอกจากนี้ เมืองยังมีโครงการ “Bike Mo, Pag Asa Ko” ซึ่งเป็นภาษาฟิลิปิโน หมายความว่า “จักรยานของคุณ ความหวังของฉัน” เป็นโครงการที่ช่วยจัดเตรียมจักรยานให้กับนักเรียนที่มีฐานะไม่ดี ได้มีจักรยานใช้เดินทางไปโรงเรียนได้สะดวกขึ้น แทนการเดินเท้ากับระยะไกลที่ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง หรือเสียค่าใช้จ่ายกับการเดินทางจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนแท็บเล็ทให้กับครู 800 คน เพื่อใช้อำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนแบบออนไลน์

“เรามีบุคลากรที่มีความสามารถมากมายในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะทางด้านภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองของเรา ทำให้เราสามารถนำมาใช้ปรับตัวให้เข้ากับการอุตสาหกรรมบริการและออนไลน์ได้เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมั่นคงและยั่งยืนสำหรับประชาชน”

“สำหรับการเรียนรู้ใหม่ ๆ เราต้องปรับให้เข้ากับคน เริ่มจากยอมรับความเป็นจริงที่ว่าเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและต้องปรับตัวเข้ากับมัน โดยเริ่มฝึกฝนตั้งแต่วัยเด็ก และมีการจัดอบรมเพื่อสอนว่าเราจำเป็นต้องปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้”

ในช่วงห้าปีข้างหน้า เมืองเลกัซปีมีเป้าหมายที่จะให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา และในแต่ละครอบครัวจะต้องมีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา และสมาชิกอย่างน้อยสองคนจะต้องมีงานที่ทำให้มีรายได้ที่ยั่งยืน


💡 เป้าหมายสู่การเป็น Smart City

เลกัซปีมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเป็น “เมืองอัจฉริยะ” ด้วยการปรับปรุงระบบการจัดเก็บข้อมูลและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อรับมือกับปัญหาไฟฟ้าดับที่เกิดจากภัยพิบัติต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวและยืดหยุ่นต่อปัญหาภัยพิบัติ เช่น โปรแกรม “การปลูกพืชในร่ม” และ “ฟาร์มเห็ด” เพื่อขยายฤดูปลูกที่จำกัดไว้เพียง 5-6 เดือน เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เพื่อเพิ่มปริมาณการเพาะปลูกผลิตภัณฑ์เกษตรให้มากขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

ในการพัฒนาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เลกัซปีทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรภายนอกที่ไม่ใช่ภาครัฐหลายแห่ง เช่น Rotary, Children International, UNICEF และ UNESCO 

“ขอบคุณ UNESCO ที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้จากเมืองอื่น ๆ และนำมาปรับใช้กับเมืองของเราซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และหวังว่าจะได้มีความร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อให้เมืองอื่น ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีเยี่ยมในการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เราเผชิญอยู่เช่นกัน” 


“ในช่วง 24 ชั่วโมงที่อยู่ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ได้สังเกตเห็นโครงสร้างพื้นฐานทางการท่องเที่ยวที่ดีมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายเมืองทั่วโลกกำลังต้องการ เมื่อมีการท่องเที่ยว ก็มีการลงทุน และการลงทุนก็จะมาพร้อมธุรกิจและโอกาสอีกมากมาย สำหรับฟิลิปปินส์ สถานที่ท่องเที่ยวของเราเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟ ชายหาด และจุดดำน้ำ แต่เราต้องการนำแนวทางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ นี้มาปรับใช้ และเชื่อว่านี่คือสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากประเทศไทย”

อ้างอิง
https://www.uil.unesco.org/en/learning-cities/legazpi-city?hub=38
https://www.pna.gov.ph/articles/1219116

Share :