เชียงใหม่สู่เมืองแห่งการเรียนรู้บนฐานเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

เชียงใหม่สู่เมืองแห่งการเรียนรู้บนฐานเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

จากกิจกรรมเปิดตัวโครงการเชียงใหม่เมืองแห่งการเรียนรู้เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา The City Leaders ได้พูดคุยกับตัวแทนนักวิจัยจากโครงการฯ – ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ ถึงเป้าหมาย และโอกาสในการขับเคลื่อนแนวคิดเชียงใหม่เมืองแห่งการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ในอนาคต โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

“จริงๆ การขับเคลื่อนเชียงใหม่เมืองแห่งการเรียน มีการริเริ่มและดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง กระบวนการขับเคลื่อนที่เป็นหมุดหมายสำคัญนำโดยเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้เสนอชื่อเมืองเชียงใหม่เพื่อสมัครเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก และได้รับการตอบรับเข้าร่วมเมื่อปีพ.ศ.2563

จากนั้นเป็นต้นมาก็มีการดำเนินการต่อยอดทั้งเพิ่มเติมกิจกรรมการเรียนรู้เข้าไปในกิจกรรมต่างๆ ของเมือง รวมไปถึงการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับทุนวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ ผ่านเครื่องมือและกลไกการดำเนินงานของเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นหลัก พร้อมกับความร่วมมือจากภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ชุมชน และมีเยาวชนในพื้นที่เข้ามาร่วมด้วย”

“สำหรับการดำเนินการในปีนี้ (พ.ศ.2567-68) ถือว่าเป็นปีที่ 4 ในการขับเคลื่อนเชียงใหม่เมืองแห่งการเรียนรู้ผ่านงานวิจัย โดยมีเป้าใหญ่เป็นการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม เป็นประโยชน์จริงๆ และสามารถนำเสนอในระดับนานาชาติได้ เรื่องหนึ่งที่เป็นเป้าหมายคือ ในฐานะที่เราเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการปฏิรูปของยูเนสโก ปีนี้เราได้ออกแบบโครงการวิจัยเพื่อเติมเต็มศักยภาพของนิเวศการเรียนรู้การพัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่การเป็นเมืองเรียนรู้ของยูเนสโกโดย มีการขับเคลื่อนคู่ขนานกันไปใน 2 โครงการย่อยในชุดโครงการใหญ่”

“โครงการที่หนึ่งสร้างพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ในพื้นที่แม่ข่าและลำน้ำสาขา เพื่อให้งานพัฒนาคลองแม่ข่าเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับในเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจในพื้นที่ โครงที่สองมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการจัดทําร่างใบสมัครเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก รวมถึงการจัดทําแผนการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้โดยมีเทศบาลนครเชียงใหม่ และเครือข่ายการเรียนรู้เป็นภาคีหลัก”

“นอกงานพัฒนา และเติมเต็มรูปธรรมการเรียนรู้ในพื้นที่ให้มีความชัดเจน การจัดทำแผนเมืองแห่งการเรียนรู้ และร่างใบสมัครที่มีความพร้อมเสนอเมืองเชียงใหม่เข้ารับการพิจารณาให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก เราคาดหวังว่า การขับเคลื่อนครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้คนเชียงใหม่ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้เมือง และต่อยอดไปสู่งานต่างๆ ที่ส่งผลดีกับเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของคนเชียงใหม่ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์กับคนเชียงใหม่จริงๆ”


ติดตามการขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกได้ที่
Facebook : Chiang Mai Learning City

Share :