Green Economy
เศรษฐกิจสีเขียว (1) ที่ว่าเขียวนั้นดูตรงไหน?
ยิ่งโลกแปรปรวน มนุษย์อย่างเรายิ่งต้องขวนขวายหาแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ มาเร่งแก้ไขปัญหา แม้จะรู้ดีว่า มาทำตอนนี้ก็สายเกินทันการณ์ แต่ก็ต้องรีบทำ มาตรการต่างๆ ทั่วโลกมุ่งไปที่การลดการปลดปล่อยก๊าซต่างๆ ที่มีผลต่อชั้นบรรยากาศ และร่วมกันการสร้างเมืองกับเศรษฐกิจให้เติบโตโดยดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นแบบติดสปีดไปพร้อมกัน
แนวคิด เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และ การเติบโตสีเขียว (Green Growth) จึงเริ่มถูกพูดถึง นำมาใช้ และน่าจะติดอยู่บนบอร์ดของทุกออฟฟิศทุกมุมโลก
แล้วจริงๆ พอพูดถึงเรื่องการลงมือทำสิ่งเล็กๆ ให้สำเร็จ เพื่อไปส่งแรงสู่เป้าหมายที่ใหญ่ระดับโลก คนตัวเล็กอย่างเราทำอะไรได้ The City Leaders (TCL) ชวนไปเข้าใจแนวคิดสีเขียว กับตัวชี้วัด‘ความเขียว’ ที่น่าจะช่วยให้เราเชื่อมต่อกับวิถีชีวิตของเราได้ไม่ยาก
Green Index เขียวแค่ไหนถามใจเธอดู –
นอกจากนิยามเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และ การเติบโตสีเขียว (Green Growth) ที่องค์กรระดับโลกต่างช่วยกันนิยาม (โดยมีจุดรวมตรงกัน คือ ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมุ่งเน้นคุณภาพชีวิตในทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี)
ตัวดัชนีชี้วัดความเขียว แต่ละองค์กรก็ใช้ตัวชี้วัดและการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกันไป
วันนี้ TCL ขอยกตัวอย่างตัวชี้วัดมาสัก 1 ตัวชี้วัดที่ ชื่อว่า “ดัชนีอนาคตสีเขียว” (the Green Future Index) คิดค้นและใช้งานมาตั้งแต่ปี 2564 โดย สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ของสหรัฐฯ ตัวชี้วัดนี้มีเป้าหมายเพื่อเปรียบเทียบความก้าวหน้าและความมุ่งมั่น ในการก้าวเข้าไปสู่อนาคตสีเขียวด้วยการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศต่างๆ โดยพิจารณา 5 เสาหลัก (Carbon emissions, Energy transition, Green society, Clean innovation, and Climate policy.)
1. การปล่อยคาร์บอนฯ ทั้งหมดและพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของการปล่อยคาร์บอนฯ ในทุกภาคส่วน (อุตสาหกรรม, ขนส่ง, เกษตร ฯลฯ)
2. การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานหมุนเวียน
3. สังคมสีเขียว ดูหลายๆ เรื่อง เช่น การเพิ่มลดของพื้นที่ป่าไม้ การรีไซเคิลทำได้จริงมากน้อยเท่าไหร่ การพัฒนาอาคารสีเขียว รวมไปถึงการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์
4. การพัฒนาและใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตร และส่งเสริมสิ่งสิ่งแวดล้อม เช่น การลงทุนในพลังงานสะอาด การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงานและการปลดปล่อยคาร์บอน และจำนวนสิทธิบัตรสีเขียว
5. ความเอาจริงเอาจังบังคับใช้นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น การสนับสนุนทางการเงินหรือภาษีแก่ธุรกิจที่สามารถช่วยลดหรือหยุดการปลดปล่อยคาร์บอน การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน การใช้กฎหมายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในมุมของการบังคับและการส่งเสริมสนับสนุน
ผลการประเมินตามตัวชี้วัด “ดัชนีอนาคตสีเขียว” (the Green Future Index) โดย MIT ปี 2023 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 (จาก 76 ประเทศ) เป็นรองเพื่อนบ้านอาเซียนอย่าง สิงคโปร์ (อันดับที่ 32), ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 44), อินโดนีเซีย (อันดับที่ 49), เวียดนาม (อันดับที่ 53) ที่อันดับต่ำกว่าประเทศไทยคือ มาเลเซียอยู่อันดับที่ 68 (ผลประเมินปีนี้ไม่ได้ประเมิน ลาว บรูไน พม่า ติมอร์ และกัมพูชาเข้ามาด้วย) ส่วนอันดับหัวตารางยังคงเป็นประเทศแถบสแกนดิเนเวีย อันดับ 1 -ไอซ์แลนด์ อันดับ 2 ฟินแลนด์ และอันดับ 3 นอร์เวย์
ตอนต่อไปจะชวนทุกคนมาดูกันต่อว่าจากตัวชี้วัดจะลงไปสู่การทำงานจริงๆ ได้อย่างไรกับ “เศรษฐกิจสีเขียว – เขียวได้ที่คิวซู ประเทศญี่ปุ่น” ในตอนต่อไป
อ้างอิง
– MIT Technology Review : https://www.technologyreview.com/…/the-green-future…/