ขึ้นชื่อว่า “เมืองศรีสะเกษ” หลายคนอาจสงสัยว่าเมืองที่ไม่ได้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน แห่งนี้จะมีประเด็นปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยได้อย่างไร แกนกลางของปัญหานี้มี 2 ประเด็นใหญ่ๆ เรื่องแรกที่ดินในเมืองไม่เพียงพอ โดยกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งดูแลโดยรัฐ อีกครึ่งเป็นของประชาชน พอคนย้ายเข้าเมืองมามากขึ้นก็คลาดแคลนที่อยู่อาศัยที่เข้าถึงได้ง่าย อีกส่วน คือ ที่ดินรัฐ และที่สาธารณะถูกจับจองเข้าไปอยู่อาศัยอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย และบางพื้นที่มีความจำเป็นต้องมีแผนการปรับปรุงพื้นที่ หรืออาจต้องโยกย้ายเพราะการมาถึงของโครงการพัฒนารถไฟรางคู่
ประเดิมบทความแรกของเมืองศรีสะเกษ – The City Leaders ชวนอ่านความคิด และวิสัยทัศน์ต่อประเด็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยของ ‘ดร.ฉัฐมงคล อังคสกุลเกียรติ นายกเทศมนตรีเมืองศรีสะเกษ’ ผู้นำเมืองและหัวเรือใหญ่ เทศบาลเมืองศรีสะเกษ ในการผลักดันการพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองศรีสะเกษ ซึ่งได้ให้ข้อคิด และแนวทางไว้ดังนี้
“ ผมมองเรื่องคุณภาพชีวิตของพี่น้องเป็นเรื่องหลัก ค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องนี้ เพราะบ้านของเขาเก่า ทรุดโทรม ช่วงฤดูฝนน้ำก็ท่วมหนัก ท่วมสูง เรื่องการบุกรุกเข้าไปอยู่ในที่สาธารณะอันนี้ก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องการเป็นอยู่นี่สำคัญ ที่ผ่านมาเทศบาลเข้าไปช่วยได้ไม่เต็มที่ เพราะเรื่องการเข้าไปอยู่อย่างไม่ถูกกฎหมายนี่แหละ เราจะไปสนับสนุนเรื่องน้ำไฟ ถนนหนทาง สาธารณูปโภค อะไรแบบนั้นกฎหมายให้เราทำไม่ได้ ที่เราทำเต็มที่และที่ทำได้ คือการดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องสุขภาพ กองสวัสดิการ งานสาธารณะสุข เข้าไปส่วนหนึ่งก็ช่วยอุปกรณ์เล็กน้อยๆ เพื่อซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม และมีการดูแลผู้สูงอายุ และเด็ก เราไม่ได้ทอดทิ้งเขา และไม่นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ คือ เราอยู่ข้างๆ พวหเขาตลอดเวลา
เรื่องสิทธิ์ของการอยู่อาศัย ด้วยความที่พื้นที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ถ้าเอาตามกฎหมายก็คืออยู่ไม่ได้ ชาวบ้านเขาก็มีการขับเคลื่อนยื่นหนังสือไปที่กระทรวงมหาดไทย ผ่านอำเภอ จังหวัด เรารับทราบเรื่องนี้ และก็ร่วมประชุมหารือด้วยตามอำนาจหน้าที่ หากมีช่องทางไหนเราสนับสนุนได้ตามกรอบหน้าที่เราก็ยินดีทำ อย่างการมีหนังสือจากกระทรวงมาที่เทศบาลให้ชะลอการขอให้ย้ายออกของพี่น้อง เราก็ชะลอเรื่องไว้ เพื่อให้กระบวนการพัฒนาแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยได้เดินหน้าก่อน อย่างงานวัดที่ดิน การพิสูจน์สิทธิ์การอยู่อาศัย ออกแบบรูปแบบการเช่าที่เหมาะสม และอื่นๆ ให้เรื่องเหล่านี้ได้เดินหน้าเต็มที่ โดยมีทีม พมจ.ศรีสะเกษ ทีมชุมชน ทีมวิจัยของอ.นิโรธ ศรีมันตะ จากม.ราชภัฏศรีสะเกษที่ได้รับทุนจาก บพท. เข้ามาช่วยทำแผนและภาพอนาคต
คือผมคิดอย่างนี้นะ ทำให้แผนและแนวทางพัฒนาที่อยู่อาศัยออกมาอย่างมีส่วนร่วม ทำให้ถูกต้อง และช่วยให้พี่น้องได้อยู่อย่างเหมาะสม ถูกต้องตามระเบียบ ถึงตอนนั้นผมมั่นใจว่าเทศบาลจะเข้าไปช่วยได้มากขึ้น เทศบาลเราพร้อมจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นแน่นอน ให้ได้เขาได้มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน มีสวนหย่อม สนามเด็กเล่น ที่ออกกําลังกาย ให้เขาได้มีต้นทุนชีวิตเหมือนคนชุมชนอื่นๆ ทั่วไปแบบที่ควรจะเป็น”
