ปัญหาที่อยู่อาศัยในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเมืองใหญ่อีกต่อไป ที่ศรีสะเกษ เมืองไม่เล็กไม่ใหญ่ก็กำลังประสบปัญหานี้เช่นกัน และในวันนี้ ทิศทางของการแก้ไขปัญหา และความร่วมมือของคนในเมืองกำลังไปได้ดีเรียกว่าเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ว่าได้
The City Leaders จึงนำบทสัมภาษณ์ ดร.นิโรธ ศรีมันตะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีโยธาและสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ หัวหน้าโครงการฉากทัศน์การจัดการที่อยู่อาศัยเมืองและการแก้ไขปัญหาชุมชนบนที่ดินรัฐภายใต้บริบทความท้าทายของการพัฒนาเมืองในอนาคต: เทศบาลเมืองศรีสะเกษ (Housing for All) มาให้ทุกท่านติดตามความก้าวหน้า และร่วมคิดต่อยอด
โจทย์เมืองศรีสะเกษที่ต้องร่วมกันแก้ เทศบาล x วิชาการ
“ตอนที่เริ่ม Set Team การทำงานวิจัยพัฒนาเมือง ผมได้ขอเข้าพบท่านนายกฯ ดร.ฉัฐมงคล อังคสกุลเกียรติ เพื่อหารือเรื่องโจทย์พัฒนาเมือง ว่าเมืองศรีสะเกษมีโจทย์เรื่องไหนบ้างที่เราจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้บ้าง และโจทย์เรื่องที่อยู่อาศัยบนที่ดินของรัฐ ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่ถูกพูดถึง และท่านนายก และเทศบาลก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และมีความตั้งใจอยากจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งมันสะท้อนภาพใหญ่ของเมืองเมืองนี้อยู่เรื่องหนึ่ง คือ Background ของศรีสะเกษ ที่เป็นเมื่อก่อนจัดอยู่ในอันดับจังหวัดยากจนลำดับต้น ๆ ของประเทศ วิธีการที่รัฐเข้ามาช่วยให้เศรษฐกิจการค้าขายดีขึ้น ก็คือการตั้งหน่วยงาน การสร้างโรงเรียน จนทำให้พื้นที่ในเมืองเกินกว่าครึ่งเป็นพื้นที่ของรัฐทั้งหมด พอเมืองเริ่มโต ต้องการแรงงาน คนก็อพยพเข้ามา ที่ดินให้อยู่อาศัยก็มีไม่เพียงพอ การบุกรุกเข้าจับจองพื้นที่รัฐหรือพื้นที่สาธารณะจึงเกิดขึ้นตามลำดับ และอยู่อาศัยกันมานาน
จะว่าไปปัญหาที่อยู่อาศัยของเมืองศรีสะเกษ อาจจะมีลักษณะคล้ายกับที่อื่น ๆ ที่ต่างออกไปจาก คือ สภาพการอยู่อาศัยที่นี่ไม่ได้เป็นชุมชนแอดอัด ไม่ได้อยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มใหญ่ แต่มีปัญหาหลักคือ กรรมสิทธิ์ที่ดิน การอยู่อาศัย สภาพบ้านเรือน และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ด้วยเหตุว่ารัฐ หรือเทศบาลก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยได้เต็มที่เพราะชาวบ้านอยู่อย่างผิดกฎหมาย สาธารณูปโภคสาธารณูปการจึงไม่พรั่งพร้อม ชาวบ้านต้องต่อน้ำต่อไฟกันเอง แถมด้วยปัญหาน้ำท่วม บ้านพังเสียหาย รายได้ที่มีน้อยอยู่แล้วการซ่อมแซมบ้านก็ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ อันนี้แค่ตัวอย่าง 1 ชุมชน งานวิจัยที่ทีมผมกำลังทำอยู่ เข้าไปช่วยดูภาพรวมการพัฒนาอยู่ 6 ชุมชน คร่าวๆ ประมาณ 500 หลังคาเรือนเป็นภาพรวมทั้งเมือง แต่จะมีกลุ่มที่เร่งด่วน และเร่งหาแนวทางพัฒนาคือ ชุมชนหนองหมู อยู่อาศัยอยู่ราวๆ 70-80 หลังคาเรือน ซึ่งตรงนี้เราเข้าไปช่วยเก็บข้อมูลเชิงลึก และช่วยทำฉากทัศน์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ร่วมกับชุมชน เทศบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูล ความร่วมมือ และฉากทัศน์ที่อยู่อาศัย (ที่ดีกว่า)
“ข้อมูลที่เราเก็บนอกจากเรื่องพื้นฐานด้านสังคมแล้ว เราเน้นเก็บข้อมูลสภาพที่อยู่อาศัย และสุขภาวะของการอยู่อาศัยในพื้นที่ รวมไปถึงความต้องการของชุมชนว่าจะตัดสินใจอยู่ในพื้นที่นี้อย่างไร และเราได้ชวนตัวแทนชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงความคิดเห็น เป็น Key actors ช่วยกันมองภาพอนาคตร่วมกัน โดยใช้เครื่องมือการสร้างฉากทัศน์ของการพัฒนาเมือง
เดือนกุมภาพันธ์นี้จึงเป็นเดือนสำคัญ เพราะเราได้เชิญชาวบ้านกับหน่วยงานมาร่วม Workshop ด้วยกัน เพื่อร่วมสร้าง Scenario และหา Solution ร่วมกัน โดยเรามองกลุ่มเป้าหมายไว้นอกจากชาวบ้าน เจ้าหน้าที่เทศบาลแล้วก็มี กลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดอย่าง พมจ.ศรีสะเกษ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน และที่อยู่อาศัย อย่าง พอช. ธนารักษ์ และการรถไฟ”
ฉากทัศน์อนาคตงานพัฒนาที่อยู่อาศัย
“ผมคาดหวังว่าการขับเคลื่อนงานวิจัยครั้งนี้ และฉากทัศน์ที่เราร่วมกันคิดสร้าง จะถูกบรรจุอยู่ในแผนของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การมีกลไกงานพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นคณะกรรมการระดับเมือง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งในตอนนี้กรรมการชุดนี้ก็กำลังก่อรูป และผมเชื่อว่าจะเป็นหมุดหมายสำคัญของความก้าวหน้างานพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองศรีสะเกษ เป็นสิ่งที่เราภูมิใจ ทำงานได้จริง และอวดเมืองอื่นๆ ได้”
