เปลี่ยนผ้าเศษ เป็นผ้าสวย ที่บวกค้าง

คุยกับ จันทร์เพ็ญ ไชยเสน
ช่างเย็บผ้าบ้านบวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

.

“น้าทำมางานกับผ้ามาทั้งชีวิต เริ่มจากทำงานกับทางโรงงานชินวัตรไหมไทย ที่บ้านเรานี่แหละ พอแต่งงานมีลูกก็ออกไปทำโรงงานตุ๊กตา พอทำเป็น รู้งาน ครูพักลักจำได้บ้างปรากฏว่าโรงงานก็กลับมาล้มปิดกิจการ ก็เลยตั้งใจกับตัวเองว่า กลับมาบ้าน มาทำเองดีกว่า พอดีมีลูกคนที่สองด้วย จากนั้นก็เริ่มจับผ้ามาทำโน้นนี่นั้นมาตลอด พอตั้งตัวได้ก็เริ่มมีหน้าร้านนิดหน่อย ๆ แต่หลัก ๆ เลยมาจากการที่ลูกค้าบอกต่อ ๆ กันไป เป็นงานแบบสั่งทำตามออร์เดอร์

ตั้งแต่แรกเลยงานมันเยอะ เราทำเองไม่ไหว ก็เลยเริ่มไปสอนญาติพี่น้องให้มาช่วยทำ แล้วก็เพื่อนบ้าน กับคนในชุมชนในตำบล รู้จักกันก็ฝากงานกันไปทำ ที่บ้านเลยเป็นเหมือนศูนย์กระจายงาน แบ่งให้ทำกันเป็นส่วน ๆ ให้ทุกคนมีรายได้เสริมนอกจากการทำนา หรือรับจ้างทั่วไป

พอตอนโควิดมา นี่คือเรียกว่าล้างสต๊อกกันเลยนะ ผ้าและชิ้นงานที่เป็นส่วน ๆ เตรียมไว้จะเอามาประกอบ ก็ขายกันไม่ได้อยู่พักใหญ่

ทุกวันนี้กลับมาดีขึ้น ลูกค้าเริ่มกลับมา ก็เป็นขาประจำ กลุ่มนี้เขาจะส่งผ้าส่งแบบมาให้เราเลย เขาจะมีแบบที่เขาชอบ ว่าจะทำอะไรแบบไหน ลูกค้ามีทั่วประเทศอย่างล่าสุดก็ที่สุพรรณบุรี กับลูกค้าต่างชาติขาประจำจะมาปีละครั้ง ก็มีที่อมเริกา และฝรั่งเศส ลูกค้าต่างชาติจะพิเศษหน่อย คือ จะมีแบบมาใหม่กันทุกปี ปีนี้อยากได้แบบนี้ พอขึ้นปีใหม่ก็เป็นอีกแบบ เค้าจะมีแบบกำกับว่าจะต้องใช้ผ้าใช้สีแบบนั้นแบบนี้ คือ เราก็ทำได้หมด เรียกว่าตอบโจทย์และครบวงจร

ผ้าเศษที่ใช้เรารับจากในชุมชนแถวบ้านเรา มีของที่อื่นอยู่บ้าง ของพวกนี้มีค่า เพราะผ้าชิ้นเล็กๆ เนี่ยะก็เอามาทำลวดลายได้ อย่างตัวนี่สีสดๆ ก็เก็บเอามาทำกระดองตุ๊กตาเต่า ผ้าเศษเล็กที่สุดก็ยังสามารถเอามาม้วนๆ เป็นกลมๆ ทำเกสรดอกไม้ หรือทำเป็นกระดุมได้ เรียกว่าแทบจะไม่เหลือทิ้งสักชิ้น

ตอนนี้พี่น้องชุมชนที่รับงานมีทั้งที่อยู่บวกค้าง ดอนปิน แจ้จ๊าง สร้างงานให้เขาพี่น้อง เพื่อนฝูง เวลาไปหาก็จะถาม “สูเขามีงานทำก่อ มา ๆ เอาอันนี้ไปเยียะ” เสร็จแล้วเราก็เอามาประกอบ แล้วส่งลูกค้า ทุกคนก็จะมีรายได้จากตรงนี้แหละ”

Share :