เศรษฐกิจสีเขียว – เขียวได้จริงที่คิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น

เศรษฐกิจสีเขียว – เขียวได้จริงที่คิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น

ตัวอย่างเศรษฐกิจสีเขียว หรือจะเรียกว่าการเติบโตสีเขียวในพื้นที่ระดับเมือง
ที่มักถูกกล่าวถึงจนคลาสสิกคงหนีไม่พ้นเมืองคิตะคิวชู (Kitakyushu) จังหวัดฟูกูโอกะ
ด้วยเส้นเรื่องที่เห็นภาพชัด และความเปลี่ยนแปลงที่น่าปรบมือให้ซ้ำๆ 

บทความนี้ The City Leaders จึงอยากชวนทุกคนย้อนเวลาไปดูพัฒนาการความเขียวของคิตะคิวชู
พร้อมร่วมสังเกตเคล็ดไม่ลับของการแปรแนวคิดชวนฝันกับคำใหญ่ๆ ฟังเพราะ
ไปสู่แนวทางที่ชาวคิตะคิวชูสามารถทำได้จริงในระดับบ้านๆ ว่ามีอะไรบ้าง ปะเริ่มกันเลย

1901 – คิตะคิวชูกลายเมืองแห่งอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก เกิดมลพิษสารพัดส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุงแรง ทั้งน้ำเสีย เขม่า และควันในอากาศ น้ำทะเลสีน้ำเงินสีเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมส้ม ท้องฟ้าสีครามถูกกลบด้วยเขม่าควันสีดำแดง
1950-1970 – ห้วงปีแห่งความเปลี่ยนแปลงทั้งมลพิษที่เข้มข้นถึงขีดสุด และการรวมตัวของ 3 ผู้นำความเปลี่ยนแปลง

ผู้นำกลุ่มที่ 1 – ประชาชนนำโดยสมาคมสตรี ผลักดันแคมเปญด้านสิ่งแวดล้อม ประสานงานและทำงานร่วมกับรัฐท้องถิ่น และจัดสร้างสารคดีชื่อ “We Want Our Blue Sky Back” เกิดการรับรู้ในวงกว้าง และสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมได้เป็นอย่างดี

ผู้นำกลุ่มที่ 2 – ท้องถิ่นและงานบริหารจัดการเมือง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ร่วมกันออกกฎหมายควบคุมมลพิษ
มีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับและป้องกันมลพิษ รวมไปถึงจัดทำข้อตกลงกับธุรกิจอุตสาหกรรมในพื้นที่

ผู้นำกลุ่มที่ 3 – ภาคธุรกิจ ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิต ด้วยเทคโนโลยีเพื่อลดการก่อมลพิษ และนำไปสู่การไม่ก่อมลพิษ ติดตั้งอุปกรณ์และระบบในการจัดการมลพิษ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โรงงาน ให้มีพื้นที่สีเขียวและสภาพแวดล้อมดีขึ้น

และอย่างที่เราทราบกันดีว่าพลังของ 3 ประสานไม่ได้เพียงนำท้องฟ้าและทะเลสีคราม พร้อมกับความน่าอยู่ และชีวิตชีวาของเมืองกลับมา มากไปกว่านั้นความสำเร็จของคิตะคิวชู ได้เชื่อมโยงสะพานจากเมืองไปสู่นานาประเทศ เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยน และสรุปงานนำเสนอนับครั้งไม่ถ้วน และแน่นอนว่าประสบการณ์ แรงบันดาลใจและองค์ความรู้มากมายที่เกิดขึ้น ทำให้งานบริหารจัดการเมืองคิตะคิวชูเดินหน้าต่อกับ Kitakyushu City Basic Environment Plan แผนพัฒนาสิ่งแวดล้อมเมืองคิตะคิวชู ซึ่งผสมรวมเอาแผนงานพื้นฐานของท้องถิ่น เข้ากับแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อม และแผน The Grand Design on World Capital of Sustainable Development ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชน ประชาสังคม ท้องถิ่น และภาคธุรกิจ ที่ต้องการวางสถานะให้คิตะคิวชูเป็นเมืองหลวงด้านสิ่งแวดล้อมของโลก The environmental capital of the world

โดยมีหลักปฏิบัติร่วมกันของชาวคิตะคิวชู กำกับแผนและนโยบายที่เป็นนามธรรมสู่การปฏิบัติการไว้ 10 ข้อ

1. เสริมสร้างพลังด้านสิ่งแวดล้อมของเมือง ผ่านความสุขและความแข็งแกร่งของประชาชน
2. สนับสนุนการพัฒนาคน ในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่ดีเยี่ยม ในด้านสิ่งแวดล้อม
3. ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่น
4. ส่งเสริมความสัมพันธ์ร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตทั้งหมดผ่านความเข้าใจในธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง
5. ดูแลรักษาทรัพย์สินที่มีค่าของเมือง ให้คงความงดงาม
6. ลดผลกระทบจากความเป็นเมืองที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม
7. กระตุ้นตลาด การค้าขาย ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น
8. สนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล กับทุกกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ
9. แบ่งปันข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการต่อเนื่อง
10. ส่งต่อแนวคิดของเมืองต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมสู่ประชาชนทั่วโลก


*คิตะคิวชูแสดงให้เราเห็นว่า จากวิกฤตเมืองที่เป็นผลมาจากการเติบโตเศรษฐกิจ สู่การคิดถึงสิ่งแวดล้อม และร่วมกันจัดการให้เศรษฐกิจและกิจกรรมต่างๆ สามารถส่งเสริมการอยู่อาศัย และการเติบโต(สีเขียว) ไปพร้อมๆ กัน โดยคิดถึงรายละเอียดตั้งแต่ระดับแผนและนโยบาย ลงไปสู่ปฏิบัติการ และความเข้าใจระดับบุคคล สิ่งนี้คือประเด็นที่น่าชื่นชม เรียนรู้ และนำมาปรับใช้เมื่อคิดถึง เศรษฐกิจสีเขียวของบ้านเรา


Share :