แม่สอดเมืองแห่งการค้าชายแดน มั่นคงและปลอดภัย

[ งานวิจัย Border City เมืองชายแดน ปี2566-67] 

โครงการศึกษาวิจัยแม่สอดเมืองแห่งการค้าชายแดน มั่นคงและปลอดภัย โดย ดร. พิษณุรักษ์ กันทวี, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 

อำเภอแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยมีด่านข้ามแดนสากลและด่านผ่านแดนชั่วคราวหลายแห่งทำให้มีการข้ามแดนไปมาของผู้คนสองฟากฝั่งจำนวนมาก จึงเป็นพื้นที่ชายแดนที่มีความหลากหลายและซับซ้อนในมิติต่างๆ ทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองและสุขภาพ และมีกลุ่มแรงงานข้ามชาติทั้งขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียนจำนวนมากและมีประชากรหลากหลายพื้นที่เข้ามาทำธุรกิจและรับจ้างเป็นแรงงานในสถานประกอบการต่างๆในพื้นที่อำเภอแม่สอด ประกอบกับระบบขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ส่งออกในพื้นที่ชายแดนจำนวนมาก จากเหตุผลข้างต้นทีมนักวิจัยจัดทำโครงการศึกษาวิจัยแม่สอดเมืองแห่งการค้าชายแดน มั่นคงและปลอดภัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลไกความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนอำเภอแม่สอดและเมืองเมียวดี และพัฒนาและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกในพื้นที่อำเภอแม่สอด รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) โดยใช้กระบวนการดำเนินการศึกษาวิจัยร่วมคิดค้นหาปัญหา ร่วมพัฒนาวางแผนการพัฒนาความร่วมมือในระดับพื้นที่เมืองคู่ขนานชายแดนร่วมกัน ภายใต้กรอบความร่วมมือและนโยบายเมืองคู่ขนานชายแดนอีกทั้งยกระดับเศรษฐกิจพื้นที่โดยใช้กลไกภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนสองฝั่งในพื้นที่ชายแดน รวมไปถึงการค้นหาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ของประชาชนสองฝั่งประเทศนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกและส่งผลให้ระดับเศรษฐกิจคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งผลการศึกษามีดังนี้

1. การพัฒนากลไกการขับเคลื่อน “แม่สอดเมืองแห่งการค้าชายแดน มั่นคงและปลอดภัย” ผ่านความร่วมมือภาคีเครือข่ายในเมืองเศรษฐกิจชายแดนแม่สอดกับเมียวดี จากการศึกษาวิจัยได้ดำเนินการจัดทำแนวทางในการดำเนินการการสร้างความร่วมมือชายแดนระหว่างจังหวัดตาก กับ จังหวัดเมียวดี ในระดับจังหวัด และ อำเภอแม่สอด กับเมืองเมียวดี ในระดับเมืองคู่ขนานชายแดน

2. การพัฒนากระบวนการศึกษาเมืองเศรษฐกิจชายแดนและพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่นนำไปสู่การยกระดับ “การเรียนรู้เศรษฐกิจชายแดนของเมืองแม่สอด” ผ่านมิติเมืองแห่งการค้าชายแดน มั่นคงและปลอดภัย ผลการวิจัยพบว่า มูลค่าการค้าชายแดนไทย – เมียนมา ผ่านด่านศุลกากรแม่สอดซึ่งมีมูลการค้าชายแดน ที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดในระยะหลายปีที่ผ่านมา (เฉพาะมูลค่าการนำเข้า – ส่งออกสินค้าไม่รวมมูลค่าสินค้าผ่านแดน) จากปี 2557 มีมูลค่านำเข้า – ส่งออกเพียง 59,476 ล้านบาท เทียบกับปี 2565 มีมูลค่านำเข้า – ส่งออก สูงถึง 134,855 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก 

สำหรับข้อมูลมูลค่าสินค้า การนำเข้า-ส่งออก ในเขตการค้าชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก ด่าน ศุลการกรแม่สอด ได้เก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งมีมูลค่าสินค้านำเข้ามูลค่าสูงที่สุดในปี 2566 (ปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่ 1 ต.ค.65 – 31 ก.ค.66) คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีมูลค่า 5,599.95 ล้านบาท และสินค้าส่งออกมูลค่าสูงที่สุดในปี 2566 คือ โทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ มีมูลค่า 3,623.11 ล้าน

การค้าชายแดน อำเภอแม่สอด จังหวัดตากกับเมืองเมียวดี  โดยอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ สูงมากจากการค้าและการลงทุน อีกทั้งมีด่านพรมแดนอำเภอแม่สอดกับจังหวัดเมียวดี สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 และ แห่งที่ 2  เป็นด่านที่มีการขนส่งสินค้า นำเข้าและส่งออกที่มีการค้าขายที่มูลค่าสูงที่สุดในภาคเหนือ และเป็นด่านที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด การค้าชายแดนที่อำเภอแม่สอดนั้น สามารถทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยได้ไม่น้อยกว่าปีละแสนล้านบาท ในปี 2564 มีมูลค่า 138,511.84 ล้านบาท  ปี 2565 มีมูลค่า 258,594.33 ล้านบาท และปี 2566 (มิถุนายน 2566) มีมูลค่า 172,560.43 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในการค้าชายแดนด้านอำเภอแม่สอดและจังหวัดเมียวดี

3. การยกระดับผลิตภัณฑ์และระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตคนแม่สอด ด้วย “กิจกรรมการเรียนรู้” แบบมีส่วนร่วมของชุมชนดั้งเดิม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาคีเครือข่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในอำเภอแม่สอด

การพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ ทางด้านการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม หรือเครื่องสำอางค์ 3 ผลิตภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์ ลิปบาล์มจากน้ำมันอะโวคาโด้ผสมสารสกัดทานาคา ผลิตภัณฑ์ลิปบาล์มสีชมพูจากน้ำมันอะโวคาโด้ผสมสารสกัดทานาคา ผลิตภัณฑ์แผ่นมาส์กหน้าผสานสารสกัดอะโวคาโด้และแมคคาเดเมีย และทานาคา ผู้ประกอบการดำเนินการทดลองและร่วมลงทุนกับชุดโครงการโดยมีสัดส่วนการร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมความงาม จำนวนสัดส่วน 50:50 โดยเริ่มดำเนินการจัดทำผลิตภัณฑ์แบบทดลอง 3 ผลิตภัณฑ์ (Prototype)  และ  ผลิตภัณฑ์ทานาคาสลีปปิ้งมาส์ก ชุดโครงการโดยมีสัดส่วนการร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมความงาม จำนวนสัดส่วน 50:50 โดยเริ่มดำเนินการจัดทำผลิตภัณฑ์แบบทดลอง ผลิตภัณฑ์ (Prototype) ร่วมกับผู้ประกอบการ   

ระบบห่วงโซ่อุปทานกุ้งแม่น้ำเมียนมาในการศึกษาระบบห่วงโซ่อุปทานกุ้งจากพื้นที่แม่สอด จ.ตาก สามารถแยกผู้ประกอบการด้านต่างๆ ในระบบห่วงโซ่อุปทาน จะประกอบไปด้วย 6 ผู้ประกอบการหลักซึ่งมีการแยกตามกิจกรรม ได้แก่ ผู้จับกุ้ง ณ ประเทศเมียนมา, ผู้ขนส่งกุ้งในประเทศเมียนมา, ผู้รวบรวมกุ้งประเทศเมียนมา, กรมศุลกากรและกรมประมง, พ่อค้าคนกลางในประเทศไทย, ผู้ขนส่งกุ้งกระจายไปยังลูกค้า ซึ่งกิจกรรมและกระบวนการต่างๆ ใน SCOR Model เกิดดังรูปที่ 1 จากการเก็บแบบสัมภาษณ์ผู้อยู่ในระบบห่วงโซ่อุปทาน กุ้ง อ.แม่สอด จ.ตาก ในครั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามจะเป็นพ่อค้าคนกลางในประเทศไทย ที่ขายกุ้งที่พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และพ่อค้าคนกลางที่ขายกุ้งไปยังพ่อค้าคนกลางทั่วประเทศ ร้านอาหาร หรือ ลูกค้ารายบุคคลในประเทศไทย ในการวิเคราะห์จาก SCOR Model 5 ด้าน ซึ่งในการวิเคราะห์จะแบ่งออกเป็นกิจกรรม 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมหลัก (Primary Activities) และกิจกรรมสนับสนุน (Support Activities) ซึ่งภายใต้การดำเนินกิจกรรมตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตจนกระทั้งกลายเป็นสินค้าที่พร้อมส่งมอบให้กับผู้บริโภค

ระบบห่วงโซ่อุปทานทานาคา
ห่วงโซ่อุปทานทานาคาจะมีการนำทานาคา แบบต้นทานาคา ทานาคาแปรรูปแบบกระปุกจากประเทศพม่าหรือการนำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโรงงานแม่สอด นำมาขายบริเวณตลาดริมเมย หรือตลาดในเมือง อ.แม่สอด จ.ตาก

บทเรียนและการเรียนรู้จากการวิจัย

  1. การศึกษาระบบ Supply Chain & Value Chain ในพื้นที่ชายแดนได้ค้นพบกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้เห็นกระบวนการและขั้นตอนสินค้านำเข้าและส่งออก ทำให้ได้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของขั้นตอนการนำเข้าและส่งออกสินค้า ช่องว่างและอุปสรรค์ ในการดำเนินงาน ได้เห็นผู้เข้ามามีส่วนร่วม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อได้ร่วมคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาและยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ เพื่อนำเข้าและส่งออก
  2. การยกระดับการค้าชายแดน จะต้องขับเคลื่อนสะท้อนปัญหาในระดับพื้นที่ร่วมกับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากส่วนกลางเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหา ตามความต้องการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่และเข้าใจปัญหาระดับพื้นที่ ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ (AREABASE)
  3. การค้าชายแดนเป็นกลไกการดำเนินงานที่มีความหลากหลายซับซ้อนเชิงกลไกการทำงานในภาครัฐและเอกชนรวมไปถึงภาคประชาสังคม ที่ผลักดันให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันภายใต้ภาคีเครือข่ายและความสัมพันธ์ในระดับพื้นที่ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการยกระดับมาตรฐานสินค้าให้เทียบเท่าระดับสากล โดยเฉพาะในแง่มาตรฐานความปลอดภัย เช่นเทียวเท่ามาตรฐานอภัยภูเบศ ศรีจันทร์ ยูนิลิเวอร์ P&G การค้าชายแดน กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน นักธุรกิจ ได้มีการประสานงานความร่วมมือร่วมกันเพื่อสร้างเครือข่ายมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะผลักดันให้เกิดกลไกการค้าชายแดน ให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันภายใต้ภาคีเครือข่ายและความสัมพันธ์ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ 
  4. ความร่วมมือทางฝั่งเมียนมาให้ควบคุม Supply ให้สามารถตอบสนอง Demand ในระยะเวลาที่เหมาะสม 

ติดต่อผู้ดำเนินโครงการ
สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
https://healthsci.mfu.ac.th/health-sci-home.html

Share :