‘รู้อะไรไม่สู้ เรียนรู้ตลอดชีวิต’
‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ คือ ทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21 เรียกว่าจำเป็นมากถึงมากที่สุดในยุคนี้ เพราะหากหยุดเรียนรู้เมื่อไหร่ เท่ากับคุณกำลังถอยหลัง และตามโลกไม่ทัน
การสร้างโปรแกรมพัฒนาการเรียนรู้สำหรับทุกคน จึงเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนา ‘ผู้นำพัฒนาเมือง และพลเมือง’ ในวันนี้และอนาคต ในส่วนของภาครัฐฝั่งวิชาการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ดำเนินการสนับสนุน และพัฒนาการเรียนรู้ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาระดับพื้นที่ โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับนักวิจัย นักวิชาการ พลเมือง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ
ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND เดินหน้ายกระดับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ขับเคลื่อนไทยสู่อนาคต วันที่ 22-28 ก.ค. 67 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติฯ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วย บพท. ได้กล่าวถึงที่มาของกรอบวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ไว้ว่า
“จากการศึกษาพบว่าระบบการศึกษาของบ้านเรา ยังไม่เพียงพอ และไม่สามารถตอบรับผู้เรียนในโลกยุคใหม่ได้ครอบคลุม การพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงผู้เรียน องค์ความรู้ สถาบันองค์กรการส่งเสริมการเรียนรู้ และท้องถิ่น ให้สมารถมีส่วนร่วมในการสร้างโปรแกรม พัฒนากลไกสนับสนุนการเรียนรู้ในพื้นที่เพื่อตอบโจทย์ตรงเป้าหมายการพัฒนาคนใน และพื้นที่เมืองของตนเอง
ข้อค้นพบสำคัญจากโครงการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ประเทศไทย เราพบว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทยยังไม่มีชีวิต ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาภายในเมืองได้ร้อยเปอร์เซ็น ช่องว่างตรงนี้ นี่คือจุดเริ่มต้นสู่การรวมพลังพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่ ซึ่งคำนึงถึงบริบทของพื้นที่ การประยุกต์ใช้งานวิชาการ แนวคิด และทฤษฎีที่เหมาะสม ให้ผู้คนเกิดความรัก ความเข้าใจในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินงานในส่วนของงานวิจัยในพื้นที่ต้องดำเนินงานร่วมกับภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยหน้าที่หลักของงานวิจัยในพื้นที่ต้องทำการรวบรวมข้อมูลพื้นที่ ความต้องการของคนในพื้นที่ เพื่อส่งต่อ และผลักดันให้ไปสู่การเป็นนโยบายของภาครัฐ และท้องถิ่น เพื่อชี้นำ และขับเคลื่อนการปฏิบัติจริง
Lessons and learns หรือบทเรียนที่ได้รับจากการเรียนรู้ในการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ ต้องประกอบไปด้วย
1) กลไกการทำงานร่วมกัน เป็นส่วนที่สำคัญในการร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนและการพัฒนาพื้นที่ ที่ต้องร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
2) ต้องมีการศึกษาท้องถิ่น
3) ต้องมีการวางแผนเชิงกลยุทธ์
4) การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่
5) การลงทุนในพื้นที่ นำไปสู่เกิดกองทุนต่างๆ
6) การรวมกลุ่มของผู้รับผลประโยชน์
7) ใช้และเติมเต็มเทคโนโลยีดิจิทัล
กรอบวิจัยการยกระดับเมืองแห่งการเรียนรู้ ปี 2567 คาดหวังผลลัพธ์ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่เกิดขึ้นกับพลเมือง และผู้นำพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ กิจกรรมที่ส่งเสริม Life Long Learning คุณภาพของพื้นที่การเรียนรู้ในเมือง รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ของเมือง โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างประโยชน์ต่อพื้นที่ และผู้คน”
ประมวลข้อมูลจาก
1. การบรรยายกรอบวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดย รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วย บพท., งานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยพลังสหวิทยาการ (อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND)
วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 – 13.00 น. ณ ห้อง R210CD ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
2. ข้อมูลสรุปทิศทางการทำงาน เป้าหมายการดำเนินงาน ข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญ และเปิดเวทีซักถามแลกเปลี่ยน ร่วมกับนักวิจัย ภายใต้กรอบการวิจัยการยกระดับแลขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ปี 2567

“เราพบว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทยยังไม่มีชีวิต นี่คือจุดเริ่มต้นสู่การรวมพลังพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ ให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่”