Chiang Mai Learning City เรียนรู้ผ่านเทศกาลยี่เป็ง (ลอยกระทง) กับกิจกรรม Festival of Light

“การสร้างการเรียนรู้ผ่านเทศกาลเมืองจะทำให้ผู้คนเข้าถึงพื้นที่ ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาเชียงใหม่สู่เมืองแห่งการเรียนรู้”

ในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่ผ่านมา Chiang Mai Learning City มีการจัดกิจกรรม Festival of Light แสงเทศกาลยี่เป็ง เรียนรู้คลองแม่ข่า ย่านไนท์บาซาร์และชุมชนริมคลอง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้คุณค่าคลองแม่ข่า และชุมชนโดยรอบ และนำร่องการพัฒนาศักยภาพ และความเป็นไปได้ เพื่อสร้างการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันและคุณภาพชีวิตของทุกคนริมคลองแม่ข่า และเมืองเชียงใหม่
.
ชวนคุยกับ สามารถ สุวรรณรัตน์ หัวหน้าโครงการยกระดับการเรียนรู้สู่การพัฒนาเมืองเชียงใหม่ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่แม่ข่า และลำน้ำสาขา (Mae Kha City Lab) กับอนาคตในการพัฒนาพื้นที่ริมคลองแม่ข่า ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ และส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่ทั้งแง่มุม คุณค่า ที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม


[ที่มาของงาน Festival of Light : แสงเทศกาลยี่เป็ง]

Festival of Light : แสงเทศกาลยี่เป็ง เรียนรู้คลองแม่ข่า – ไนท์บาซาร์ เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ Mae Kha City Lab ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เป็นโครงการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการที่อยู่อาศัย เพื่อการสนับสนุนโอกาสในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนในพื้นที่แม่ข่า ที่จะสามารถพัฒนาและเกิดประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง
.
การจัดการที่อยู่อาศัยของคนในพื้นที่บริเวณรอบคลองแม่ข่า มีหลากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันกับที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ยกตัวอย่างเช่น การเช่าช่วง การเช่าพื้นที่ต่างๆ จากบุคคลภายนอก ส่งผลกระทบต่อการปรับปรุงที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในพื้นที่ นั้นเป็นไปได้ยาก

จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐโดยตรงที่ต้องเข้ามาพัฒนาโครงการ ซึ่งในส่วนของภาครัฐ ที่ประกอบไปด้วยหลายหน่วยงานในปัจจุบัน ความร่วมมือเชื่อมโยงกันยังอยู่ในระดับความเข้าใจ แต่ยังไม่สามารถยกระดับเป็นเพื่อปฏิบัติการร่วมของคนทั้งเมือง
.
ในปีที่แล้วเราได้เริ่มโครงการ Mae Kha City Lab (Imagine MaeKha) ซึ่งได้ข้อค้นพบว่า ในพื้นที่คลองแม่ข่านั้นไม่ได้มีแค่ชาวบ้าน เทศบาล ชุมชน ที่อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาเท่านั้น แต่มีผู้ประกอบการรายใหญ่จากฝั่งไนท์บาซ่าเข้ามาร่วมด้วย เลยเกิดเป็นความคิดที่ว่า

กลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพด้านการลงทุนและการสร้างการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ น่าจะเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ที่อยากจะช่วยเปลี่ยนแปลงพื้นที่แม่ข่าที่เขามีความใกล้ชิดอยู่ ทางเราจึงมีการพูดคุย แลกเปลี่ยนวิธีการ และความคิดเห็นกับคนกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง

จนมาถึงปีนี้ได้มีโอกาส พัฒนาโครงการนี้ โดยร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในแหล่งชุมชน ที่อยู่ในพื้นที่ย่านธุรกิจใจกลางเมืองและการท่องเที่ยวบริเวณไนท์บาซาร์ และเชื่อมโยงเข้าหาชุมชนใกล้เคียงด้วย โดยยึดหลัก 3 หัวข้อได้แก่ ประวัติศาสตร์, เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
.
เป้าหมายหลักของงาน คือการทำให้ผู้เข้าร่วมงานมีประสบการณ์กับพื้นที่คลองแม่ข่าในช่วงเทศกาล เนื่องจากในช่วงเทศกาลเป็นช่วงที่ทุกร้านค้า บ้านเรือน ผู้ประกอบการ จะมีการตกแต่งสถานที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาร่วมงานเทศกาล

พื้นที่ย่านไนท์บาซาร์เองก็เช่นกันที่มีการตกแต่งภายในพื้นที่กันเป็นประจำทุกปี และช่วงเทศกาลนั้นทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวจะมีปริมาณเยอะเป็นกว่าปกติ การที่ทุกที่มีกิจกรรมเหล่านี้ในช่วงเทศกาลเป็นทุนเดิม การจะชวนผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในงานเทศกาลของเรา ที่มีบริเวณรอบคลองแม่ข่าที่ใช้เป็นจุดลอยกระทงนั้นไม่ยากจนเกินไป

ทางโครงการจึงได้ร่วมพูดคุย และเตรียมการกับทางผู้ประกอบการมาเป็นเวลา 3-4 เดือน และมองว่าพื้นที่ตรงริมคลองนั้นเหมาะกับการเรียนรู้เรื่องราวในพื้นที่นั้นๆ สามารถเดินเชื่อมกับบริเวณแม่น้ำปิงซึ่งอยู่ไม่ไกล จึงเกิดกิจกรรม 5 Stamp Stations ริมคลองแม่ข่าในเส้นทางใหม่ ที่อยากให้คนมาเดินเที่ยวและเรียนรู้ไปด้วยกัน”
.
[การมีส่วนร่วมของชุมชน]
“ด้วยพื้นที่ในโครงการนี้ล้วนมีเจ้าของเดิมที่เป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว ทางโครงการจึงได้ขอความร่วมมือ เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยจัดเตรียมงาน และถ่ายทอดเรื่องราวในพื้นที่ ร่วมกันจัดการในหัวข้อการเรียนรู้แต่ละจุด เพื่อให้ชุมชนได้เข้ามาร่วมงาน ได้แก่ ชุมชน ครูและนักเรียนในพื้นที่ และผู้ประกอบการได้แลกเปลี่ยนความรู้กันและกัน”
.
[ทิศทางของการพัฒนาพื้นที่บริเวณคลองแม่ข่า]
“ทิศทางในอนาคตตอนนี้แบ่งเป็น 3 ประเด็น

ประเด็นแรกคือ ‘การมีส่วนร่วม’ แต่เดิมย่านไนท์บาซาร์มีการรวมตัวจัดตั้งชมรม ผู้ประกอบการไนท์บาซาร์ ซึ่งสมาชิกคือ เหล่าผู้ประกอบการในชุมชน แต่ที่ผ่านมา เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องโควิด เรื่องน้ำท่วม และกลุ่มทุนจากภายนอกที่เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ทำให้ความแข็งขันในการทำงานสาธารณะของชมรมฯ ลดลง แต่หลังจากการทำงานร่วมกันที่ผ่านมาทำให้กลุ่มชมรมฯ นี้มีความมั่นใจในการจัดการและพัฒนาพื้นที่ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องเฝ้ารอทางภาครัฐหรือกลุ่มทุนมาช่วย
.
ประเด็นที่ 2 คือ หัวข้อการพัฒนาที่เราตั้งไว้ 3 หัวข้อหลัก ประวัติศาสตร์, เศรษกิจ และสิ่งแวดล้อม ทั้งสามหัวข้อนี้ก็มีผู้เชี่ยวชาญที่ยังคงทำการศึกษาและค้นคว้าอยู่ โดยหัวข้อการศึกษาจะถูกนำมาสร้างเป็นกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน ให้คนในชุมชนได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาชุมชนด้วยตัวเองต่อไป
.
ประเด็นที่ 3 คือ การสร้างโอกาสในการทำให้พื้นที่แม่ข่ากลายเป็น “ต้นแบบของการสร้างเศรษกิจบนฐานวัฒนธรรม” และสอดแทรก “การเรียนรู้” เข้าไปด้วย เนื่องจากเป็นเป้าหมายของการจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ในแบบของจังหวัดเชียงใหม่ ทางโครงการจะพยายามให้การจัดกิจกรรมต่างๆ การประชุม การเผยแพร่สื่อของเราทั้งหมด ให้อยู่ในเกณฑ์ของ UNESCO ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของโครงการ ซึ่งจะต้องมีการยื่นใบสมัครขอรับรองเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนในการสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรมได้ และยืนเสนอเอกสารในอนาคตอันใกล้”
.

อ้างอิง
นายสามารถ สุวรรณรัตน์,18 พฤศจิกายน 2567

Share :