การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาคเพื่อสร้างไทยเป็นศูนย์กลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

[ งานวิจัย Border City เมืองชายแดน ปี2566-67] 

การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาคเพื่อสร้างไทยเป็นศูนย์กลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย ศาสตราจารย์.ดร.รุธิร์ พนมยงค์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โครงการศึกษาได้มุ่งประเด็นการพิจารณาองค์ความรู้ทางวิชาการที่มีอยู่ประกอบกับข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อนำมาใช้เชื่อมโยงการพัฒนาระหว่างระเบียงเศรษฐกิจไทยและภูมิภาค โดยมีคำถามว้จัยหลักและวัตถุประสงค์ ดังนี้

วัตถุประสงค์การศึกษา 1 ระบุพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนมุมมองของไทยเป็นศูนย์กลาง

วัตถุประสงค์ข้อที่ 2 ศึกษาและวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์แลสถานะการพัฒนาปัจจุบันของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพ
1.ยังไม่พบยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ระบุการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ทางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
2.ประเด็นของการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากฎระเบียบ พบว่า ยังไม่มีประเทศที่ทำการศึกษามีการกำหนดประเด็นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านเศรษฐกิจและมุ่งเป้าการยกระดับของประเทศในระดับโลก
3.ความแตกต่างของยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละประเทศชี้ถึงโอกาสและแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค เพื่อสร้างไทยเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วัตถุประสงค์ข้อที่ 3 วิเคราะห์องค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่

(1) การประเมินความเชื่อมโยงของระเบียงเศรษฐกิจระดับ Micro  ใช้ดัชนีวัดประสิทธิภาพการผ่านแดนและข้ามแดน (Border Performance Index: BPI) เป็นการวัดประสิทธิภาพของพื้นที่ชายแดนใน 4 มิติ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และเจ้าของสินค้า ผลการประเมิน พบว่า ความเชื่อมโยงของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (ไทย และมาเลเซีย) ยังคงมีช่องว่างในด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบที่ขาดการเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ โดยประเทศมาเลเซียมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าไทย ในขณะที่ไทยมีกฎระเบียบที่อำนวยความสะดวกต่อพิธีการข้ามแดนและผ่านแดนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และเจ้าของสินค้าทั้งสองกลุ่มมีความสามารถใกล้เคียงกันและสามารถดำเนินการได้ภายใต้ข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบที่มีอยู่  ส่วนความเชื่อมโยงของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (ไทย และสปป.ลาว) ด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบระหว่างสองประเทศยังขาดการเชื่อมโยง ทั้งนี้ ประสิทธิภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบของไทยอยู่ในระดับที่ดีกว่าสปป.ลาว ในขณะที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และเจ้าของสินค้ามีความสามารถใกล้เคียงกัน โดยผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินการได้ดีกว่าเล็กน้อย  

(2) การประเมินความเชื่อมโยงของระเบียงเศรษฐกิจระดับ Meso ได้ใช้เครื่องมือ Multimodal Transport Cost Model (MTCM) เพื่อทำการเปรียบเทียบปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้า เพื่อประเมินประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางระเบียงเศรษฐกิจ พบว่า ในภาพรวมประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ของประเทศไทยไปยังประเทศอินโดนีเซีย และในส่วนของการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย ยังไม่พบปัญหาทั้งในมิติของค่าใช้จ่ายในการขนส่งและการดำเนินพิธีการศุลกากร รวมถึงระยะเวลาและระยะทางที่เกิดขึ้น แต่หากต้องการเชื่อมโยงไปยังประเทศอินโดนีเซียก็จะต้องตระหนักถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีการศุลกากรและระยะเวลาในการตรวจปล่อยสินค้าที่ค่อนข้างสูง  

การประเมินประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC)

(3) การประเมินความเชื่อมโยงของระเบียงเศรษฐกิจระดับ Macro ใช้วิธีการประเมินสถานการณ์แนวโน้มการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทยยึดโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ 9 เขตเศรษฐกิจพิเศษ จากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและการศึกษาของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ตามกรอบการเชื่อมโยงอาเซียน (ASEAN Connectivity) ซึ่งกำหนดการเชื่อมโยง 3 ส่วนหลัก คือ การเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity) การเชื่อมโยงขององค์กร (Institutional Connectivity) และการเชื่อมโยงของคน (People-to-People Connectivity) โดยผลการประเมินพบว่า ในภาพรวมประเทศไทยยังคงประสบปัญหาด้านการเชื่อมโยงทางกายภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับการขนส่งทั้งภายในประเทศและเชื่อมโยงระหว่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกที่จุดผ่านแดนที่ยังล้าหลัง ส่งผลให้การดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ขาดประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเชื่อมโยงขององค์กร ได้แก่ การบริหารจัดการองค์กร ปัญหากฎระเบียบและพิธีการ รวมถึงการเชื่อมโยงการปฏิบัติงานระหว่างประเทศ และปัญหาการเชื่อมโยงของคน ซึ่งเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบและขั้นตอนการผ่านแดน ขาดทักษะและฝีมือแรงงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นความท้าทายสำคัญครอบคลุมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบ Hard Infrastructure เช่น การลงทุนพัฒนาโครงข่าย และโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบ Soft Infrastructure อย่างการปฏิรูปนโยบาย ความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการระเบียงเศรษฐกิจที่ต้องเชื่อมโยงข้ามพรมแดน ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างบูรณาการ

วัตถุประสงค์ข้อที่ 4 นำเสนอนโยบายการพัฒนาและกลไกการปฏิบัติงานสำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพต่อการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ความท้าทายของระเบียงเศรษฐกิจทั้งสองพื้นที่ พบว่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานยังมีระบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสินค้า เครื่องมือและอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกรอบพื้นที่ยังไม่เพียงพอและไม่ได้มาตรฐาน ด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องยังขาดการประสานความเชื่อมโยงกับหน่วยงานทั้งภายในและระหว่างประเทศ และการให้บริการพิธีการข้ามแดนและผ่านแดนยังไม่เอื้ออำนวยในการข้ามแดนและผ่านแดน ขณะที่ด้านผู้ให้บริการโลจิสติกส์และด้านเจ้าของสินค้ายังขาดความเข้าใจในกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ

1.จากความท้าทายดังกล่าวข้างต้นได้นำไปสู่การพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อใช้ในการจัดทำแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคต่างๆ ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามเป้าหมาย โดยข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตามเป้าหมาย “ใช้ความมั่งคั่งสร้างความมั่นคง” ขณะที่แนวทางการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ เพื่อเพิ่มเติมแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือเข้าสู่คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายแดนในพื้นที่รวมถึงผลักดันให้เกิด “คณะกรรมการไตรภาคีในการเชื่อมโยงพื้นที่ชายแดนของ 3 ประเทศ ไทย-ลาว-จีน” 

โดยแนวทางการจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจได้กำหนดระยะเวลาของแผนตามลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่แผนควรจะใช้เพื่อดำเนินการ แบ่งเป็นแผน 3 ระยะ ประกอบด้วย แผนระยะสั้น เป็นแผนที่ควรพิจารณาการอย่างเร่งด่วนเพื่อตอบสนองให้ทันต่อความต้องการสำหรับการพัฒนาพื้นที่ กำหนดระยะเวลาสำหรับการดำเนินงานภายใน 1-2 ปี แผนระยะกลาง เป็นแผนการพัฒนาที่ไม่มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ในระยะสั้นและ/หรือเป็นแผนที่ต้องใช้ระยะเวลาสำหรับการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิผล กำหนดระยะเวลาสำหรับการดำเนินงานภายใน 3-5 ปี แผนระยะยาว เป็นแผนที่ต้องใช้ระยะเวลาสำหรับการดำเนินงานมากซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินการให้หลายภาคส่วนและเกี่ยวข้องกับการพัฒนากฎระเบียบ ความร่วมมือ รวมถึงการนำไปใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิผล กำหนดระยะเวลาสำหรับการดำเนินงานภายใน 6-10 ปี โดยมีรายละเอียดข้อเสนอแนะสำหรับแนวทางการพัฒนาแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ประกอบด้วย แผนพัฒนา/โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 9 โครงการ (ประกอบด้วย 3 โครงการที่มีความสำคัญสูง และ 6 โครงการที่มีความสำคัญปานกลาง) แผนพัฒนา/โครงการด้านกฎระเบียบ จำนวน 7 โครงการ (ประกอบด้วย 3 โครงการที่มีความสำคัญสูง และ 4 โครงการที่มีความสำคัญปานกลาง) และด้านผู้ให้บริการโลจิสติกส์และด้านเจ้าของสินค้า จำนวน 3 โครงการ (ประกอบด้วย 1 โครงการที่มีความสำคัญสูง และ 2 โครงการที่มีความสำคัญปานกลาง)

ขณะที่แนวทางการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ประกอบด้วย แผนพัฒนา/โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 8 โครงการ (ประกอบด้วย 2 โครงการที่มีความสำคัญสูง และ 6 โครงการที่มีความสำคัญปานกลาง) แผนพัฒนา/โครงการด้านกฎระเบียบ จำนวน 6 โครงการ (ประกอบด้วย 2 โครงการที่มีความสำคัญสูง และ 4 โครงการที่มีความสำคัญปานกลาง) และด้านผู้ให้บริการโลจิสติกส์และด้านเจ้าของสินค้า จำนวน 3 โครงการ (ประกอบด้วย 1 โครงการที่มีความสำคัญสูง และ 2 โครงการที่มีความสำคัญปานกลาง)

ดังนั้น การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการแก้ไขช่องว่างของโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงกฎระเบียบ และเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค จะช่วยเพิ่มความสำคัญและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทย


เอกสารอ้างอิง: รายงานฉบับสมบูรณ์การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาคเพื่อสร้างไทยเป็นศูนย์กลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Developing Regional Economic Corridor to enable Thai Centrality in Southeast Asia), กองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วย บพท., เมษายน พ.ศ. 2567 

ข้อมูลติดต่อ: ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ พนมยงค์, หัวหน้าโครงการวิจัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Share :